ระวัง! อาการหน้ามืด เวียนหัว สัญญาณบ่งบอกอาการบ้านหมุน

  •  05 เม.ย. 67

เคยไหม? อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกยืนไม่มั่นคง เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ คล้ายโลกหมุนจนรู้สึกเสียการทรงตัว ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้ามอย่าง 'บ้านหมุน' แต่จะมีสาเหตุ การรักษา และวิธีป้องกันอย่างไร บทความนี้จะพามาหาคำตอบ เพื่อให้คุณเข้าใจและสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดปัญหา

อาการ 'เวียนหัวบ้านหมุน' คืออะไร?

บ้านหมุน เป็นอาการเวียนศีรษะแบบหนึ่งที่ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนตัวเองหรือสิ่งรอบตัวหมุน จนควบคุมตัวเองลำบาก ทำให้เกิดอาการ ดังนี้

  • เสียการทรงตัว โคลงเคลง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มึนงง มึนหัว
  • เหงื่อออก
  • หน้าซีด
  • หูอื้อ หรือมีเสียงในหู

อาการหน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้แบบเฉียบพลันเพียงชั่วครู่ หรืออาจเกิดเรื้อรังเป็นเวลานาน จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

อาการบ้านหมุนเกิดจากอะไร?

การขาดความสมดุลภายในหู

เนื่องจากหูชั้นในเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ช่วยประสานงานในระบบการทรงตัวของร่างกาย เมื่อระบบทำงานไม่สมดุล จึงส่งผลต่อการทรงตัว ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้

  • น้ำในหูไม่เท่ากัน โดยเกิดจากความผิดปกติของน้ำในหูชั้นใน ซึ่งมีหน้าที่ส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวไปยังสมอง ทำให้เกิดอาการที่ค่อนข้างรุนแรงนานกว่า 20 นาที และมักเป็นร่วมกับอาการอื่น เช่น หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหัว
  • หินปูนในหูเคลื่อน เกิดจากการที่หินปูนในท่อ Semicircular Canal ซึ่งทำหน้าที่รับรู้การหมุนของศีรษะ หลุดไปอุดตัน ส่งผลต่อการรับรู้การเคลื่อนไหว จึงมักทำให้เกิดบ้านหมุนเฉียบพลันเมื่อเปลี่ยนท่าทางศีรษะในระยะสั้น โดยอาการอาจเกิดไม่ถึง 1 นาที
  • เส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหลังการป่วย ที่ขัดขวางการส่งสัญญาณการทรงตัวไปยังสมอง จึงอาทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว จากบ้านหมุนรุนแรงเป็นวันได้

ระบบหมุนเวียนโลหิตผิดปกติ

ตามปกติแล้วระบบหมุนเวียนโลหิตจะทำหน้าที่ในการส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ดังนั้น เมื่อระบบทำงานผิดปกติ จึงอาจส่งผลทำให้เกิดอาการหน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ ทำให้ร่างกายทรงตัวได้ยาก จนนำไปสู่อาการบ้านหมุนได้

ไมเกรน

อย่างที่รู้กันว่าไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่มักทำให้มีอาการปวดศีรษะข้างเดียว คลื่นไส้ อาเจียน และไวต่อแสง เสียง กลิ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการบ้านหมุนชั่วคราวขึ้นด้วย

โรคหลอดเลือดสมองแตก หรือตีบ

เมื่อเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง ย่อมส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดทำให้ไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้ จึงส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางที่อาจส่งผลให้เกิดอาการบ้านหมุนได้

ทำอย่างไรเมื่อเวียนหัวบ้านหมุน

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดอาการบ้านหมุน

เมื่อเวียนหัวบ้านหมุน หลายคนอาจไม่รู้จะทำอย่างไรเพื่อลดอาการที่เกิดขึ้น โดยสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

  • หยุดนิ่ง โดยพยายามหาที่นั่ง หรือจุดพิงสำหรับพัก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการล้ม
  • มองไปที่วัตถุที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เพื่อลดอาการเวียนหัว ช่วยให้รู้สึกมั่นคงขึ้น
  • ดื่มน้ำอุ่น หรือเกลือแร่ เพื่อลดอาการคลื่นไส้
  • ขยับศีรษะช้า ๆ พยายามหลีกเลี่ยงการหันศีรษะ ก้ม หรือลุกขึ้นยืนเร็ว ๆ โดยปุบปับ ในช่วงที่ร่างกายยังทรงตัวไม่ได้
  • ปรึกษาแพทย์ หากมีอาการรุนแรง บ้านหมุนบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการทรงตัว 

การรักษาอาการบ้านหมุน

การรักษาอาการเวียนหัวบ้านหมุนสามารถทำได้โดยดูที่สาเหตุเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย รวมถึงทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการทรงตัว ตรวจ CT Scan หรือ MRI สมอง เพื่อหาแนวทางรักษาที่เหมาะสม โดยมีตัวอย่างวิธีการรักษา เช่น 

  • กายภาพบำบัด กรณีที่เกิดจากปัญหาหูชั้นใน แพทย์อาจแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกการทรงตัว
  • ใช้ยา เช่น ยาคลื่นไส้ ยาแก้อักเสบ หรือยาบรรเทาตามโรคที่เป็น
  • การผ่าตัด ตามข้อบ่งชี้ของโรค หรือในกรณีอาการเกิดจากสาเหตุที่ต้องผ่าตัด

อาการหน้ามืด เวียนหัว คลื่นไส้ จากบ้านหมุน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งแม้จะดูไม่เป็นอันตราย แต่อาจส่งผลร้ายแรงต่อการใช้ชีวิต การสังเกตอาการเพื่อดูแลตัวเองเบื้องต้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากพบอาการต้องสงสัยควรรีบไปตรวจสุขภาพทันที แนะนำที่ คลินิกพรีเมียม รามาธิบดี เฮลธ์ สเปซ (ผู้ป่วยนอก) @ พาราไดซ์ พาร์ค ซึ่งมีทั้งคลินิกเด็กและผู้ใหญ่ที่ดูแลโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ จึงช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดีได้ในทุกช่วงวัย พร้อมโปรโมชันการตรวจสุขภาพหลากหลายรูปแบบ เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น. ณ ชั้น 3 ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลินิกได้ทาง Call Center เบอร์ 02-2010640-45 สถานที่ไม่สามารถรองรับคนไข้ฉุกเฉิน กรณีฉุกเฉินโทร. 1669

 

แหล่งอ้างอิง  

บ้านหมุนเกิดจากอะไร ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 จาก https://redcross.or.th/news/information/17772/