มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

  •  06 ก.ค. 61

มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน


บริษัท พาราไดซ์ พาร์ค จำกัด ตระหนักดีว่าการทุจริตคอร์รัปชันส่งผลร้ายและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและสร้างความไม่เป็นธรรมในทางธุรกิจ ส่งผลเสียทั้งด้านจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันของกิจการ และไม่เป็นที่ยอมรับทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ขาดความเชื่อมั่นต่อองค์กร และยังถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอีกด้วย บริษัทฯ จึงถือเป็นหลักการที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจที่จะไม่สนับสนุนกิจการ กลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่มีส่วนร่วมกับการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่พึงได้รับ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมจากการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ


จดหมายแจ้งคู่ค้า CAC-PDP

ถ้อยแถลงจาก CEO ประกอบนโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

นโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในงานด้านทรัพยากรบุคคล

สารจากกรรมการผู้จัดการ_PDP

1.วัตถุประสงค์
มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้เป็นแนวทางให้ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับตระหนักถึง การปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตสำนึกในการยึดถือความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยปราศจากการทุจริตการคอร์รัปชัน หรือการแสวงหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยจรรโลงไว้ซึ่งชื่อเสียงและเกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

 

2.คำนิยาม
บริษัทฯ หมายถึง
บริษัท พาราไดซ์ พาร์ค จำกัด
 
การทุจริตคอร์รัปชัน หมายถึง
การกระทำใดๆ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ การยักยอก การฉ้อโกง การเรียกร้อง หรือรับ การเสนอให้ การให้คำมั่นสัญญา การมอบให้ การสนับสนุน ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดกับบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐหรือ หน่วยงานเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้กระทำหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือมีผลต่อการตัดสินใจ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี จริยธรรมและจรรยาบรรณของบริษัทฯ
 
การช่วยเหลือทางการเมือง หมายถึง
การช่วยเหลือในนามบริษัทฯ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน หรือรูปแบบอื่น เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง การช่วยเหลือด้านการเงินสามารถรวมถึงการให้กู้เงิน ส่วนการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น (In-kind) เช่น การให้สิ่งของหรือบริการ การโฆษณาส่งเสริมหรือสนับสนุนพรรคการเมือง การซื้อบัตรเข้าชมงานที่จัดเพื่อระดมทุนหรือบริจาคให้แก่องค์กรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นการสนับสนุนกระบวนการทางประชาธิปไตยที่กระทำได้ตามที่กฎหมายกำหนด
 
สินบน หมายถึง
ทรัพย์สินที่มีมูลค่าหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคล/กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพื่อจูงใจให้ผู้นั้นกระทำหรือละเว้น การกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง หรือต่อธุรกิจของบริษัทฯ หรือบริษัทฯ ในเครือ
 
ของขวัญ ของกำนัล หมายถึง
สิ่งของมีค่าทั้งที่เป็นวัตถุ สินค้า และบริการ ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับโดยตรง หรือให้มีการซื้อขายในราคา พิเศษ รวมทั้งการออกค่าใช้จ่ายในการรับบริการ เช่น การเดินทาง ที่พัก เป็นต้น
 
การบริจาคเพื่อการกุศล หมายถึง
กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินโดยไม่มีผลตอบแทนที่มีตัวตน ยกเว้น การประกาศเกียรติคุณตามธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป เช่น การติดตราสัญลักษณ์ (Logo) การประกาศรายชื่อบริษัทฯ ณ สถานที่จัดงาน หรือในสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น และเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานด้าน ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)
 
การบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ หมายถึง
การใช้จ่ายเงินเพื่อโครงการ กิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม กลุ่มประชาชน โดยบริษัทฯ อาจไม่ได้รับผลตอบแทนที่มีตัวตน
 
เงินสนับสนุน หมายถึง
เงินสนับสนุนที่จ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ ตราสินค้า หรือชื่อเสียงของบริษัทฯ
 
พนักงาน หมายถึง
พนักงานของกลุ่มบริษัท รวมถึงพนักงานประจำ พนักงานทดลอง พนักงานชั่วคราว  ซึ่งบริษัทฯตกลงว่าจ้างโดยได้รับค่าจ้าง
 
ตัวแทนทางธุรกิจ หมายถึง
นิติบุคคลอื่น หรือ บุคคลธรรมดา ที่ไม่ใช่พนักงานของกลุ่มบริษัท  ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ  ได้ว่าจ้างหรือตกลงให้ทำธุรกรรมหรือติดต่อกับบุคคลภายนอกในนามของกลุ่มบริษัท
 
คู่ค้า หมายถึง
บุคคลที่มีธุรกรรมกับกลุ่มบริษัทฯ เพื่อสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดธุรกิจของบริษัทฯ
 
หน่วยงานภาครัฐ หมายถึง
-กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ (เช่น กรมสรรพากร กรมที่ดิน ราชการส่วนท้องถิ่น ฯลฯ )
-พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง ข้าราชการทางการเมือง (ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน) ผู้บริหารท้องถิ่น
-หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแล (เช่น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ฯลฯ)
-รัฐวิสาหกิจ หรือ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือ องค์กรอื่นๆ ที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของหรือมีอำนาจ ควบคุม

 

3.ขอบเขต
มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันนี้ใช้เป็นแนวการปฎิบัติสำหรับบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย/บริษัทร่วมที่มีอำนาจควบคุม

 

4.บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ
เพื่อให้มาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มบริษัทฯ มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน จึงให้กำหนดบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
 
คณะกรรมการบริษัทฯ มีหน้าที่ดังนี้
-กำหนดและอนุมัตินโยบายต่อต้านการคอร์รัปชัน
-อนุมัติและทบทวนแนวทางปฏิบัติสำหรับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน
-กำกับดูแลให้มีระบบที่สนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ
 
คณะกรรมการตรวจสอบ มีหน้าที่ดังนี้
-สอบทานให้บริษัทฯ มีการควบคุมภายในอย่างเพียงพอ
-สอบทานให้มีการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ
 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและ กรรมการผู้อำนวยการ มีหน้าที่ดังนี้
-ส่งเสริม สนับสนุน และควบคุมดูแล เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการปฏิบัติตามนโยบาย ต่อต้านการคอร์รัปชัน มาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันและระเบียบปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสื่อสารไป ยังพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
-ทบทวนความเหมาะสมของระบบงานและมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย
 
ผู้บริหารระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไป มีหน้าที่ดังนี้
-ควบคุมและกำกับให้มีการนำมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันไปปฏิบัติได้จริง สามารถระบุความเสี่ยง ตรวจสอบ และบริหารจัดการให้มีมาตรการที่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวดเร็ว และทันเวลา สนับสนุนการพัฒนากระบวนการ รวมทั้งบุคลากรเพื่อให้มาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันขององค์กรบรรลุผล
 
พนักงาน มีหน้าที่ดังนี้
-ทำความเข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมถึงมาตรการอื่นๆ (ถ้ามี) และเข้าร่วม การฝึกอบรมตามที่บริษัทฯ กำหนด
-แจ้งเบาะแสทันทีเมื่อพบเห็น หรือสงสัยว่าจะมีการคอร์รัปชัน ให้ความร่วมมือในการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ เกี่ยวข้องกับข้อสงสัยในการกระทำการคอร์รัปชัน
-พนักงานต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และจะต้องปฏิบัติตามมาตรการ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัทฯอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพนักงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่มี
-กระบวนการหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน เช่น งานจัดซื้อจัดจ้าง สินเชื่อ งานด้านการขาย การพนักงาน งานสนับสนุน และงานด้านการลงทุน
 
สายตรวจสอบภายใน มีหน้าที่ดังนี้
-ตรวจสอบและสอบทานการปฏิบัติงานว่าเป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามนโยบาย มาตรการ ระเบียบปฏิบัติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจว่ามีระบบการควบคุมภายในที่หมาะสม และเพียงพอต่อความเสี่ยง ด้านคอร์รัปชันที่อาจเกิดขึ้น และรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ
-รายงานผลการปฏิบัติงานและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการต่อต้านการคอร์รัปชันต่อคณะกรรมการ ตรวจสอบ
 
ฝ่ายกำกับดูแลกิจการ มีหน้าที่ดังนี้
-ให้คำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
-กำกับการปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน
-ประสานงานกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
 
ฝ่ายบริหารกลยุทธ์และระบบงาน มีหน้าที่ดังนี้
-พัฒนาเครื่องมือการประเมินความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และจัดให้หน่วยงานภายในองค์กรประเมิน ความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน
-ประสานงาน ให้คำปรึกษา และรวบรวมข้อมูลการประเมินความเสี่ยง มาตรการ วิธีการจัดการ และแนวทาง ควบคุมความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหาร ความเสี่ยง (RMC) พิจารณา
-สอบทานข้อมูลผลการดำเนินงานความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน และจัดให้มีการทบทวนความเสี่ยง ด้านคอร์รัปชัน
 
ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล และ ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล มีหน้าที่ดังนี้
-บริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของบริษัทฯ
-จัดให้มีกระบวนการคัดเลือก การปฐมนิเทศ การฝึกอบรม และบทลงโทษที่เกี่ยวกับการปฏิบัติด้านการ ต่อต้านคอร์รัปชัน
-ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการปฏิบัติในแนวทางต่อต้านการคอร์รัปชัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจ เข้าข่ายคอร์รัปชัน
 
ฝ่ายบัญชีและงบประมาณ และฝ่ายการเงิน มีหน้าที่ดังนี้
-ปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทฯ กฎหมาย และหลักการทางบัญชีและการรายงานทางการเงิน
-รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรับ-จ่ายเงิน บันทึกบัญชี และเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ รายการบัญชีรับจ่ายและภาษี โดยจะต้องมีเอกสารแนบครบถ้วนและได้รับการอนุมัติอย่างถูกต้อง
-ดำเนินขั้นตอนการปฏิบัติงานทางการเงินและบัญชีให้สอดคล้องกับหลักมาตรฐานการบัญชีที่ได้รับรอง ทั่วไป
-ดำเนินการควบคุมการเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบและขั้นตอนการปฏิบัติงานการเบิกค่าใช้จ่าย คู่มืออนุมัติ ค่าใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงาน และสอดคล้องกับมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชัน
 
ฝ่ายสื่อสารองค์กร มีหน้าที่ดังนี้
-สื่อสาร เผยแพร่ นโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างจิตสำนึกใน การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ปราศจากการคอร์รัปชัน
-ให้มีการสื่อสารและรายงานต่อสาธารณชนเกี่ยวกับการต่อต้านการคอรัปชั่นของบริษัทฯ

 

5. กรอบการควบคุม

5.1 ระบบการควบคุมภายใน
กลุ่มบริษัทฯ ได้มีการกำหนดระเบียบการปฏิบัติงาน ซึ่งมีการจัดแบ่งภาระหน้าที่ตามโครงสร้างการบังคับ บัญชาและมีการอนุมัติดำเนินการอย่างมีขั้นตอน โดยกระบวนการปฏิบัติงานจะมีระบบควบคุมภายใน กระบวนการสอบทานและการควบคุมให้สอดคล้องกับมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และได้รับ การตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบภายใน ซึ่งพนักงานทุกคนต้องดำเนินงานตามระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ งานและข้อกำหนดของบริษัทฯ แนวทางปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน บริษัทฯ ได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันตามรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันหลักๆ ดังนี้

5.2 แนวทางปฎิบัติงานให้สอดคล้องกับนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
กลุ่มบริษัทฯ ได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชันตามรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันหลักๆ ดังนี้
5.2.1 การให้และการรับสินบน
5.2.1.1 ห้ามกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับ ให้หรือรับสินบนในรูปแบบใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อตอบแทนการให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และห้ามมอบหมายให้ผู้อื่นให้หรือรับสินบนแทน ตนเอง
5.2.1.2 ห้ามเป็นตัวกลางในการเสนอให้หรือรับสินบนใดๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของ บริษัทฯ
5.2.2 การให้หรือรับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง หรือผลประโยชน์อื่น
การให้หรือรับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยงรับรอง หรือผลประโยชน์อื่น กับลูกค้า คู่ค้า ตัวแทน ทางธุรกิจ ให้ปฏิบัติตามระเบียบการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้ หรือรับของขวัญ ของกำนัล การเลี้ยง รับรอง หรือผลประโยชน์อื่น ทั้งนี้ ให้ยึดหลักการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุ สมผล และสามารถตรวจสอบได้
5.2.3 การช่วยเหลือทางการเมือง
กลุ่มบริษัทฯ ไม่ช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนทางการเมืองแก่พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หรือ นักการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม รวมถึงไม่ให้ใช้ทรัพย์สินใดๆ ของบริษัทฯ เพื่อดำเนินการ ดังกล่าว
5.2.4 การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ และการให้เงินสนับสนุน
5.2.4.1 การบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์ การให้เงินสนับสนุน ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อศีลธรรม รวมทั้งไม่เป็นการ กระทำการใดๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อสังคมส่วนร่วม
5.2.4.2 การให้หรือรับเงิน หรือทรัพย์สินบริจาคเพื่อการกุศลหรือเงินสนับสนุนนั้น ต้องไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพื่อเป็นข้ออ้างในการติดสินบน
5.2.4.3การเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศล และการให้เงินสนับสนุน ให้ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอน การปฏิบัติงานการเบิกค่าใช้จ่ายในการบริหารของบริษัทฯ และคู่มืออำนาจอนุมัติค่าใช้จ่าย เพื่อการดำเนินงานที่บริษัทฯ กำหนด ทั้งนี้ การเบิกจ่ายต้องระบุวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และมีหลักฐานที่ตรวจสอบได้
5.2.4.4 ในกรณีที่มีข้อสงสัยที่อาจส่งผลกระทบทางกฎหมาย ให้ขอคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมาย อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือในเรื่องที่มีความสำคัญอื่นๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของฝ่ายจัดการ

5.3 แนวทางการแจ้งเบาะแส/ ข้อร้องเรียนการคอร์รัปชัน
5.3.1 พนักงานต้องไม่ละเลยหรือเพิกเฉย เมื่อพบเห็นหรือทราบว่ามีการปฏิบัติงานที่ขัดแย้งต่อระเบียบคำสั่งของ บริษัทฯ หรือเห็นการกระทำที่เข้าข่ายหรือเพียงแต่สงสัยว่าเป็นการกระทำที่คอร์รัปชันที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ พนักงานต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่รับผิดชอบทราบข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม สามารถขอคำปรึกษาผู้บังคับบัญชา หรือสอบถามจากฝ่ายกำกับดูแลกิจการ
5.3.2 ผู้ที่พบเห็น หรือสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เข้าข่ายการคอร์รัปชัน หรือได้รับผลกระทบอันเนื่องจากการต่อต้าน การคอร์รัปชัน สามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนโดยช่องทางใดทางหนึ่งของบริษัทฯ ดังนี้
- ทาง E-mail
คณะกรรมการตรวจสอบ
E-mail address : ac@mbkgroup.co.th

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ
E-mail address : asksuvait@mbkgroup.co.th
รองกรรมการผู้อำนวยการสายตรวจสอบภายใน
E-mail address : ia@mbkgroup.co.th
 
- ทางจดหมายถึงบุคคลดังกล่าวข้างต้น
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) 
444 อาคารเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ชั้น 8 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
 
5.3.3 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ 
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ตู้ ปณ. 444 ปณศ. รองเมือง กรุงเทพฯ 10330
5.3.4 พนักงานพึงต้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ และให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อกรณีพบเห็นการกระทำที่เข้าข่าย การคอร์รัปชัน
5.3.5 บริษัทฯ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงานที่แจ้งเบาะแส หรือปฏิเสธการคอร์รัปชันตามที่ได้กำหนด ไว้ในนโยบายการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียน

 

6. บทลงโทษ

กลุ่มบริษัท มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับของกลุ่มบริษัท มีจิตสำนึกการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม และทำการสื่อสารเผยแพร่นโยบายและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอร์ัปชั่นฉบับนี้ต่อกรรมการผู้บริการ และพนักงานทุกระดับ และต่อสาธารณชน รวมทั้งส่งเสริมพัฒนาให้เกิดความรู้ ความเข้าใจเพื่อยึดถือปฎิบัติอย่างจริงจัง 

ดังนั้น การละเว้นไม่ปฎิบัติตามถือเป็นการกระทำที่ผิดวินัยตามระเบียบของกลุ่มบริษัท ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัย การไม่รับรู้กับมาตรการนี้ ไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ปฎิบัติตามได้ และในกรณีที่การทุจริตคอร์รัปชันส่งผลให้มีความผิดกฎหมาย กลุ่มบริษัท มีสิทธิที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดนั้น